การพัฒนาบทสร้าง ของ การประเมินตัวเองหลัก (จิตวิทยา)

ลักษณะต่าง ๆ ของ CSE ได้พัฒนาขึ้นผ่านการศึกษาเรื่องความพอใจในการงานโดยประวัติแล้ว มีแบบจำลอง 3 อย่างที่ใช้ในการศึกษาความพอใจในงาน[1]

  • แบบสถานการณ์/ลักษณะงาน (situational/job characteristics) ซึ่งให้เหตุผลความยินดีพอใจในงานโดยปัจจัยภายนอกเช่นลักษณะของงานเอง
  • แบบนิสัย (dispositional) ซึ่งให้เหตุผลโดยลักษณะบุคลิกภาพภายในที่เสถียร
  • แบบปฏิสัมพันธ์ (interactionist) ซึ่งให้เหตุผลโดยปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางสถานการณ์และทางนิสัย

แบบสถานการณ์และแบบปฏิสัมพันธ์มีหลักฐานสนับสนุนมากที่สุดในวรรณกรรมที่ผ่านมาโดยยอมรับความไม่เสมอกันเช่นนี้ จึงมีการพัฒนา CSE ขี้นเพื่อเพิ่มการตรวจสอบแบบนิสัยในเรื่องความพอใจในงาน[1]

การเลือกลักษณะต่าง ๆ

งานวิจัยปี 2540 ที่ศึกษาแบบจำลองแบบนิสัย[1]ให้เหตุผลว่า ลักษณะ (trait) ที่มีโอกาสพยากรณ์ความพอใจในงานมากที่สุดจะมีคุณสมบัติ 3 อย่างคือ เพ่งการประเมิน เป็นลักษณะพื้นฐาน และเป็นลักษณะที่ครอบคลุม

  1. เพ่งการประเมิน (Evaluation-focused) คือเป็นการประเมินที่ตัดสินคุณค่าขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับตนเอง ไม่ใช่เป็นการพรรณนาถึงตนเองแบบทั่วไป (เช่น "ฉันมั่นใจในตัวเองและมีค่า" เทียบกับ "ฉันเป็นคนทะเยอทะยาน") ส่วนค่าความพอใจในงานเองก็เป็นการประเมินของบุคคลในเรื่องงาน/อาชีพของตน ดังนั้น การประเมินตนเอง โดยเฉพาะการคิดถึงตัวเองและคุณค่าของตัวเอง จะมีผลสำคัญต่อความพอใจในงานของตน
  2. เป็นลักษณะพื้นฐาน (fundamental trait, source trait) เป็นลักษณะที่แยกออกเป็นลักษณะอื่น ๆ ไม่ได้ เพราะเป็นพื้นฐานหรือรากฐาน โดยลักษณะพื้นฐานรวมกันสามารถกลายเป็นลักษณะที่ครอบคลุมกว่า (surface trait) ได้[8] และมีผลต่อลักษณะอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ความไม่แน่ใจในตัวเอง (self-doubt) และความขัดข้องใจ (frustration) สามารถพิจารณาว่าเป็นลักษณะพื้นฐานที่สามารถพยากรณ์ลักษณะที่ครอบคลุมกว่าคือความก้าวร้าว (aggression) ได้ ลักษณะพื้นฐานจะมีผลที่มีกำลังและแน่นอนต่อความพอใจในการงานมากกว่าลักษณะครอบคลุม[1]
  3. เป็นลักษณะที่กว้าง ๆ (global) เพราะน่าจะถือเอานัยทั่วไปได้ในที่ทำงานดีกว่าลักษณะโดยเฉพาะ ๆ ยกตัวอย่างเช่น ค่าประเมินกว้าง ๆ ของคุณค่าตนจะสามารถพยากรณ์ความพอใจในงานโดยทั่วไปได้ดีกว่าการประเมินความสามารถทางศิลป์โดยเฉพาะ

โดยใช้ลักษณะ 3 อย่างที่ว่า งานวิจัยจึงได้เลือกลักษณะบุคลิกภาพ 4 อย่างที่ศึกษากันมากที่สุด คือที่ตั้งการควบคุม (locus of control) ความไม่เสถียรทางอารมณ์ (neuroticism) ความมั่นใจในความสามารถของตน (self-efficacy) และความภูมิใจในตน (self-esteem)ซึ่งแต่ละอย่างได้แสดงแล้วว่าเป็นตัวพยากรณ์ที่มีกำลังต่อผลทางการงานในด้านต่าง ๆแต่จนกระทั่งถึงปี 2540 กำลังพยากรณ์ของลักษณะเหล่านั้น ๆ ศึกษาแต่ทีละอย่าง ๆงานที่ศึกษาลักษณะเหล่านั้น ๆ ร่วมกันในปี 2540 (1997)[1]พบว่า ลักษณะ 4 อย่างเหล่านี้จะรวมกันเป็นลักษณะทางบุคลิกภาพที่กว้างกว่าซึ่งต่อมาเรียกว่า core self-evaluations (CSE) ซึ่งสามารถพยากรณ์ความพอใจในงานมากกว่าแต่ละอย่าง ๆ สามารถพยากรณ์โดยลำพังกล่าวอีกอย่างก็คือ ระดับต่าง ๆ ของลักษณะ 4 อย่างเหล่านั้น สามารถอธิบายได้โดยใช้ลักษณะที่กว้าง ๆ เพียงอย่างเดียวซึ่งก็คือ CSEนอกจากนั้นแล้ว การรวมลักษณะ 4 อย่างเหล่านั้นทำให้พยากรณ์ความพอใจในการงานได้ดีกว่า และต่อมาผลทางการงานด้านอื่น ๆ อีกด้วย[9]

ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะต่าง ๆ

ลักษณะทั้ง 4 อย่าง (Locus of control, neuroticism, generalized self-efficacy, และ self-esteem) มีแนวคิดบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่ได้ศึกษาร่วมกันจนกระทั่งรวมเข้าเป็นลักษณะครอบคลุมเดียวคือ CSEนักวิจัยทางจิตวิทยาบุคลิกภาพจำนวนหนึ่งอ้างว่า ลักษณะเหล่านี้ได้เสนอและศึกษาต่างหาก ๆ โดยไม่สนใจว่า มีฐานที่เหมือนกันบ้างหรือไม่เพราะว่า ลักษณะเหล่านี้หลายอย่างมีสหสัมพันธ์ในระดับสูงจนกระทั่งว่า ควรพิจารณาว่าเป็นตัววัดบทตั้ง (construct) ตัวเดียวกัน[10]ซึ่งก็เป็นจริงสำหรับลักษณะ 4 อย่างของ CSEเพราะลักษณะเหล่านี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และแต่ละอย่างพยากรณ์ความพอใจในการงานเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นโดยลำพังแต่เมื่อรวมกันเป็นหลักที่เป็นแกน คือ CSE อำนาจการพยากรณ์ผลของ CSE ก็เพิ่มขึ้น[9]

การเปรียบเทียบกับลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง และอารมณ์เชิงบวก/เชิงลบ

ลักษณะต่าง ๆ ของ CSE พิสูจน์แล้วว่าเป็นตัวพยากรณ์โดยนิสัยที่ดีสำหรับความพอใจในการงาน และพยากรณ์ได้ดีกว่าลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง หรือ การมีอารมณ์เชิงบวก/เชิงลบ (Positive/Negative Affectivity)[11]

ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง

ดูสารนิเทศเพิ่มเติมที่: ลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง

มีข้อสงสัยว่า CSE พยากรณ์อะไรได้ดีกว่าลักษณะบุคลิกภาพใหญ่ 5 อย่าง คือ ความยินยอมเห็นใจ (agreeableness), ความพิถีพิถัน (conscientiousness), ความสนใจต่อสิ่งภายนอก (extraversion), neuroticism, และความเปิดรับประสบการณ์ (openness to experience) หรือไม่และบางคนก็อ้างว่า ตัวบ่งชี้ลักษณะต่าง ๆ ของ CSE เป็นแนวคิดคล้าย ๆ กับ neuroticism ที่เป็นส่วนของลักษณะใหญ่ 5 อย่าง[12]แม้จะจริงว่า คำนิยามบางอย่างของ neuroticism จะรวมลักษณะทั้ง 4 อย่างของ CSE แต่ลักษณะใหญ่ 5 อย่างก็ไม่ได้กล่าวถึงความภูมิใจในตนโดยตรงในคำอธิบายของ neuroticism และความภูมิใจในตนก็ไม่ได้เป็นด้าน ๆ หนึ่ง (facet) ของ neuroticism ด้วย[9]ดังนั้น แนวคิดของ neuroticism แคบกว่า CSEนอกจากนั้นแล้ว ไม่มีแบบวัด neuroticism ไหน ๆ ที่ประเมินความภูมิใจในตนและแบบวัด neuroticism มีแต่คำถามแบบพรรณนาแต่ไม่มีคำถามที่ประเมิน[12]

การมีอารมณ์เชิงบวก/เชิงลบ

การมีอารมณ์เชิงบวก/เชิงลบ (Positive/negative affectivity ตัวย่อ PA/NA) ซึ่งเป็นความโน้มเอียงที่จะประสบอารมณ์เชิงบวกหรือเชิงลบเป็นหลัก ได้มีการศึกษาโดยเป็นตัวสหสัมพันธ์ (correlate) กับความพอใจในการงานแม้ว่าความโน้มเอียงจะมีอิทธิพลต่อความพอใจในการงาน แต่ว่าการวัดค่านี้ไม่สามารถอธิบายความแตกต่างของความพอใจในงานมากไปกว่าที่อธิบายได้ด้วยการวัดความภูมิใจในตนและ neuroticism ของ CSE[3][13]และจริง ๆ แล้ว ค่าวัดของ CSE สามารถอธิบายความแตกต่างของความพอใจในการงานและความพอใจในชีวิตที่ไม่สามารถอธิบายได้โดย PA/NA[3]